หลักนิติศาสตร์อิสลาม: แนวทางในการดำเนินชีวิตอย่างสมดุล
อิสลามเป็นศาสนาแห่งความเมตตา ที่พระองค์อัลลอฮฺทรงประทานให้แก่มนุษยชาติ ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อจรรโลงโลกให้เกิดความสมดุลในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวัตถุหรือจิตวิญญาณ อิสลามไม่แยกระหว่างศาสนจักรกับอาณาจักร แต่ครอบคลุมทั้งศาสนา การปกครอง การศึกษา เศรษฐกิจ และจรรยามารยาท สร้างกรอบการดำเนินชีวิตตั้งแต่ระดับบุคคลจนถึงสังคม ทำให้ชีวิตมีแนวทางและสิทธิหน้าที่ชัดเจนในทุกมิติ.
อิสลามยังคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของทุกคน ไม่ว่าจะเป็นผู้แข็งแรงหรือผู้อ่อนแอ ให้เกียรติแก่ผู้รู้ และส่งเสริมการเตือนสติกับผู้ไม่รู้ ไม่แบ่งแยก ไม่ด่าทอหรือว่าร้ายใครไม่ว่าพวกเขาจะเป็นมุสลิมหรือคนต่างศาสนา อีกทั้งยังมีความเมตตาต่อสัตว์ สภาพแวดล้อม เช่น การไม่ทำลายต้นไม้หรือฆ่าสัตว์เพื่อความบันเทิง การยิ้มแย้มทักทายพี่น้อง หรือแม้แต่เรื่องเล็กๆ ที่เป็นความดีงามในสังคมก็ได้รับการส่งเสริม
บทบัญญัติในหลักนิติศาสตร์อิสลาม
อัลอะห์กาม (บทบัญญัติ) เป็นข้อบังคับที่พระองค์อัลลอฮฺทรงกำหนดขึ้นสำหรับการกระทำของผู้ที่บรรลุศาสนภาวะ( มุกัลลัฟ) เช่น การปฏิบัติตามคำสั่ง การเลือกทำ และการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่วางไว้ ตัวอย่างเช่นการปฏิบัติตามสัญญา การปฏิบัติต่อกันระหว่างสามีภรรยา และกฎเกี่ยวกับมรดก.
หุกุม หรือข้อบังคับในนิติศาสตร์อิสลามแบ่งออกเป็นสองประเภทใหญ่ ๆ คือ
- หุกุมตักลีฟีย์: บทบัญญัติที่สั่งให้ปฏิบัติหรืองดเว้น
- หุกุมวัฎอีย์: กฎเกณฑ์ที่ใช้กำหนดผลลัพธ์และความสัมพันธ์ของการกระทำ
ในที่นี้ เราจะเน้นไปที่ หุกุมตักลีฟีย์ ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 5 ประเภทหลัก:
1. อัลวายิบ (สิ่งที่จำเป็นต้องทำ)
สิ่งที่ศาสนาสั่งให้กระทำอย่างเด็ดขาด ผู้ที่ปฏิบัติจะได้รับผลบุญ และผู้ที่ละทิ้งจะได้รับโทษ ตัวอย่างได้แก่
- ด้านอะกีดะฮ์ ด้านความเชื่อ: ต้องศรัทธาต่ออัลลอฮ์, ศรัทธาต่อมลาอีกะฮ์ (เทวทูต), ศรัทธาต่อพระคัมภีร์, ศรัทธาต่อเราะซูล (ศาสนทูต), ศรัทธาต่อวันอาคิเราะฮ์ (วันสิ้นโลก) และศรัทธาต่อกฏสภาวะกำหนด.
- ด้านอิบาดะฮ์ ด้านการเคารพภักดี: เช่น ละหมาด 5 เวลา ถือศีลอดในเดือนรอมฎอน จ่ายซะกาต และการบำเพ็ญหัจญ์
- ด้านสังคม: เช่น การสวมใส่ฮิญาบของสตรี การรักษาความซื่อสัตย์ และการชำระหนี้ให้ตรงเวลา
2. อัลหะรอม (สิ่งที่ต้องห้าม)
เป็นสิ่งที่ศาสนาสั่งให้ละทิ้งอย่างเด็ดขาด ผู้ที่ฝ่าฝืนจะได้รับโทษ ตัวอย่างเช่น
- ด้านความเชื่อ: ไม่ตั้งภาคีใด ๆ กับอัลลอฮฺ
- ด้านสังคม: ห้ามลักขโมย ฆ่าคน ฉ้อโกง ดื่มสุรา เล่นการพนัน และรับประทานอาหารต้องห้าม เช่น เนื้อหมู
3. อัลมันดูบ (สิ่งที่แนะนำให้ทำ)
สิ่งที่ศาสนาส่งเสริมให้กระทำ แต่ไม่บังคับ หากปฏิบัติจะได้รับผลบุญ แต่หากละทิ้งจะไม่ถูกลงโทษ ตัวอย่างเช่น การละหมาดฎุฮา การถือศีลอด 6 วันในเดือนเชาวาล หรือการให้สลาม
4. อัลมักรูฮ์ (สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง)
สิ่งที่ศาสนาแนะนำให้ละเว้น แต่ไม่ถึงขั้นห้ามเด็ดขาด ผู้ที่ปฏิบัติเช่นนี้อาจจะไม่ถูกลงโทษแต่จะไม่ได้รับผลบุญ
ในการแบ่งประเภทของ อัลมักรูฮ์ (สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง) นั้น นักวิชาการแบ่งออกได้เป็นสองประเภทหลัก ๆ คือ:
1. มักรูฮ์ ตันซีฮีย์ (مَكْرُوهٌ تَنْزِيهِي)
หมายถึง สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง แต่หากกระทำแล้วจะไม่ถือเป็นบาปโดยตรง ผู้ที่หลีกเลี่ยงจะได้รับผลบุญ แต่หากทำก็จะไม่ถูกลงโทษ
ตัวอย่าง: การรับประทานอาหารที่มีกลิ่นฉุน (เช่น กระเทียม) ก่อนเข้าสู่มัสยิดเพื่อไม่รบกวนผู้อื่น
2. มักรูฮ์ ตะห์รีมี (مَكْرُوهٌ تَحْرِيمِي)
เป็นสิ่งที่อยู่ใกล้กับการห้ามอย่างเด็ดขาด การกระทำถือว่าไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง และผู้ที่ฝ่าฝืนอาจได้รับโทษในบางกรณี แต่ไม่ถึงขั้นต้องรับโทษอย่างรุนแรงเหมือนการทำสิ่งที่หะรอม
ตัวอย่าง: การละหมาดสุนัตมุฎลักในช่วงเวลาห้าม เช่น ขณะที่ตะวันขึ้นหรือตะวันตก ซึ่งช่วงเวลานี้เป็นเวลาที่ไม่อนุญาตให้ละหมาดตามหลักการศาสนา การละหมาดในเวลานี้จึงถือว่าเป็นมักรูฮ์ ตะห์รีมี
5. อัลมุบาห์ (สิ่งที่อนุญาต)
สิ่งที่ศาสนาอนุญาตให้กระทำได้โดยไม่มีผลทางบาปบุญ เราเรียกว่า
อัลมุบาห์ คือ สิ่งที่ผู้คนมีอิสระในการกระทำหรือการละทิ้ง โดยไม่มีผลบุญหรือโทษ ตัวอย่างเช่น การทำงานภายหลังละหมาดวันศุกร์ที่ถือเป็นมุบาห์ อัลลอฮ์ตรัสว่า:
«فَإِذَا قُضِيَتِ الصَّلاَةُ فَانتَشِرُوا فِي الأَرْضِ وَابْتَغُوا مِن فَضْلِ اللهِ وَاذْكُرُوا اللهَ كَثِيرًا لَّعَلَّكُمْ تُفْلِحُونَ»
“เมื่อเสร็จจากการละหมาด ท่านทั้งหลายจงแยกย้ายกันไปในหน้าแผ่นดินและจงแสวงหาความโปรดปรานของอัลลอฮ์เถิด” (อัลญุมุอะฮฺ อายะฮฺที่10)
นอกจากนี้ ยังมีตัวอย่างอื่น ๆ เช่น การกิน การดื่ม และการพักผ่อน.
สรุป: อิสลามเป็นระบบที่ครอบคลุมทุกด้านของชีวิต โดยมีบทบัญญัติที่เป็นแนวทางให้เราปฏิบัติตามเพื่อความสมดุลในสังคมและจิตวิญญาณ ทุกคำถามในชีวิตไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ อิสลามมีคำตอบเสมอครับ.
บทความนี้ได้รับการเรียบเรียงและนำเสนอโดย อ.สมาน เลาะ