การหลับตาในขณะละหมาดได้หรือไม่?
โดยทั่วไป การละหมาดมีคำแนะนำให้ผู้ละหมาดมองไปยังจุดที่ตนจะสุญูด (ก้มกราบ) เพื่อเพิ่มความคุชูอฺ (สมาธิ, สงบใจ, นอบน้อม) ซึ่งเป็นการปฏิบัติที่ได้รับการสนับสนุนจากรายงานต่าง ๆ ตัวอย่างหนึ่งที่อิหม่ามอิบนุหะญัรกล่าวไว้ในหนังสือ ฟัตหุลบารีย์ คือคำกล่าวของมุฮัมมัด อิบนุสิรีนที่ว่า:
“พวกเขา (หมายถึงบรรดาซอหาบะฮฺของท่านนบี) เคยหันหน้าไปมาในขณะละหมาด จนกระทั่งอัลลอฮฺ (ซ.บ.) ประทานโองการ:
قَدْ أَفْلَحَ الْمُؤْمِنُونَ ﴿١﴾ الَّذِينَ هُمْ فِي صَلَاتِهِمْ خَاشِعُونَ ﴿٢﴾
ความว่า “แน่นอนบรรดาผู้ศรัทธาได้ประสบความสำเร็จแล้ว (1) บรรดาผู้ที่พวกเขาเป็นผู้นอบน้อมถ่อมตนในเวลาละหมาดของพวกเขา (2) (อัลมุอ์มินูน อายะฮฺที่ 1-2)
หลังจากนั้น พวกเขากลับมาละหมาดด้วยความตั้งใจและเพ่งมองไปยังที่สุญูด ซึ่งบรรดาซอหาบะฮฺสนับสนุนให้เพ่งไปที่จุดนี้เพียงจุดเดียวเพื่อสร้างความสงบในละหมาด นี่เป็นสัญญาณของการมีความคุชูอฺในการละหมาด ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อมองไปยังจุดสุญูดของตน.
คำตัดสินเกี่ยวกับการหลับตาในละหมาด
การหลับตาขณะละหมาดถูกตัดสินว่าเป็น มักรูฮฺ (น่ารังเกียจ) โดยฟุเกาะฮาอฺ (นักวิชาการฟิกฮ์) ส่วนใหญ่จากมัซฮับต่าง ๆ เช่น ฮานาฟี, มาลิกี, ฮัมบาลี และบางส่วนจากมัซฮับชาฟีอี มีความคิดเห็นว่า การหลับตาระหว่างการละหมาดนั้นเป็นที่น่ารังเกียจ (มักรูฮฺ) โดยพวกเขาอ้างอิงหลักฐานจากหะดีษของอิบนุอับบาส ร.ฎ. ที่รายงานว่า ท่านเราะสูลลุลลอฮ ﷺ กล่าวว่า:
إِذَا قَامَ أَحَدُكُمْ فِي الصَّلَاةِ فَلَا يُغْمِضْ عَيْنَيْهِ
“เมื่อคนใดคนหนึ่งจากพวกท่านยืนอยู่ในการละหมาด เขาก็อย่าหลับตาทั้งสองข้างของเขา” (รายงานโดยอัล-เฏาะบะรอนีย์10794) #หะดีษนี้ฎออีพมีความอ่อนแอ
อีกเหตุผลหนึ่งที่นำมาอ้างอิงคือ การหลับตานั้นเป็นพฤติกรรมของชาวยิว และอาจทำให้เกิดความง่วงนอน. ในหนังสือ “อัล-บะดาอิอฺ بدائع الصنائع في ترتيب الشرائع” (เป็นหนึ่งในหนังสือที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับการแบ่งประเภทกฎหมายอิสลามตามแนวทางของมัซฮับฮานาฟี) ได้กล่าวไว้ว่า สุนนะฮ์คือการมองไปยังจุดที่เราจะก้มศีรษะลงในขณะสุญูด (ก้มกราบ) และการหลับตาจะทำให้เราไม่สามารถทำเช่นนั้นได้. ในทัศนะของฮานาฟี การหลับตาในขณะละหมาดถือว่าเป็นการมักรูฮฺ มักรูฮ์ ตันซีฮ์ (หมายถึง การห้ามไม่รุนแรงไม่ถือว่าเป็นบาปหากทำแต่หากหลีกเลี่ยงก็จะได้รับผลบุญ)
ข้อยกเว้น
อย่างไรก็ตาม มีข้อยกเว้นในกรณีที่การหลับตาช่วยให้มีความคุชูอฺมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อสิ่งรอบข้างอาจรบกวนสมาธิ นักวิชาการบางท่านถึงกับกล่าวว่า ในกรณีนี้ การหลับตานั้นเป็นสิ่งที่ดีกว่าและไม่ถือว่ามักรูฮฺ.
อิหม่ามอัน-นะวาวีย์ (ร.ฮ.) ได้ระบุว่า ในมัซฮับอัชชาฟิอีย์ การหลับตาไม่ถือเป็นมักรูฮฺหากมันช่วยเพิ่มความคุชัวอฺในการละหมาด
อิหม่ามอัน-นะวะวีย์ได้กล่าวไว้ในหนังสือ “อัลมัจญฺมูอ์” ว่า:
“ทัศนะที่เลือกใช้คือ การหลับตาในขณะละหมาดไม่เป็นที่น่ารังเกียจ (มักรูฮ์) หากไม่มีความกลัวว่าจะเกิดอันตราย เพราะว่ามันจะช่วยรวบรวมให้มีความคุชูอฺ และจิตใจจดจ่ออยู่กับการละหมาด และป้องกันการมองไปที่อื่น ๆ รวมถึงการฟุ้งซ่านของจิตใจ” – หนังสืออัลมัจญฺมูอ์ เล่มที่ 3 หน้า 270
ขณะที่ อิหม่ามอิบนุลก็อยยิม กล่าวว่า การหลับตาเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ หากการลืมตานั้นขัดขวางสมาธิของเขาทำให้เกิดความวอกแวก และการหลับตานั้นช่วยให้มีความคุชูอฺมากยิ่งขึ้น.
“สิ่งที่ถูกต้องคือ ควรกล่าวว่า หากการลืมตาไม่ทำให้ความคุชูอฺขาดตกบกพร่อง การลืมตาย่อมดีกว่า แต่หากการลืมตานั้นขัดขวางสมาธิของเขา (เช่น การลืมตาทำให้เขาเสียความคุชูอฺ) เพราะสิ่งที่อยู่เบื้องหน้า เช่น ลวดลายประดับ หรือสิ่งตกแต่งอื่น ๆ ที่มาก่อกวนใจเขา ก็ไม่ถือว่ามักรูฮฺที่จะหลับตาโดยเด็ดขาด และการกล่าวว่าการหลับตาในสถานการณ์นี้เป็นสิ่งที่มุสตะฮับ (สุนัต) นั้น ย่อมใกล้เคียงกับหลักการและเป้าหมายของศาสนายิ่งกว่าการกล่าวว่ามันเป็นมักรูฮฺ วัลลอฮุอะลัม (และอัลลอฮฺทรงรอบรู้ยิ่ง)” – หนังสือซาดุลมะอาด โดย อิหม่ามอิบนุลก็อยยิม เล่ม 1 หน้า 285
เชคอะหมัด มัมดูห์, เลขานุการฝ่ายฟัตวาแห่งสำนักฟัตวาอียิปต์ กล่าวว่า, มนุษย์ควรจะมีความคุชูอฺ ในระหว่างการละหมาด และควรตระหนักว่าเขากำลังยืนอยู่ต่อหน้าองค์พระผู้เป็นเจ้าอันทรงเกียรติ. ท่าน “เชคมัมดูห์” ยังกล่าวเพิ่มเติมในระหว่างการถ่ายทอดสดผ่านทางเพจของสำนักฟัตวาอียิปต์ว่า, การหลับตาในระหว่างการละหมาดนั้นสามารถทำได้ในบางกรณีเพื่อเพิ่มความคุชูอฺ หากการหลับตาช่วยให้ผู้ละหมาดมีความคุชูอฺมากขึ้น, และท่านอิบนุ อัลกอยยิมได้กล่าวไว้ในหนังสือ “ซาดุลมะอาด” ว่าหากการเปิดตาช่วยให้มีสมาธิในการละหมาดมากยิ่งขึ้น ก็คือดีที่สุด, แต่หากการหลับตาช่วยให้ผู้ละหมาดมีความคุชูอฺมากยิ่งขึ้น เนื่องจากมีสิ่งรบกวนจิตใจ เช่น การตกแต่งหรือสิ่งประดับประดา การหลับตานั้นไม่ถือว่ามักรูฮฺ (น่ารังเกียจ)โดยเด็ดขาด.
เชคอะห์หมัด อัซซอบบาฆ, นักวิชาการจากอัลอัซฮัร, ได้อธิบายถึงการหลับตาในระหว่างการละหมาด; โดยกล่าวว่า: การหลับตาอย่างสนิทในขณะละหมาดนั้นไม่อนุญาตให้ทำได้; โดยย้ำว่าการมองไปที่สุญูดเป็นสิ่งที่ควรทำในระหว่างละหมาด.
สามารถหลับตาได้ แต่ไม่ควรหลับสนิททั้งหมด.
เชคอัซซอบบาฆยังได้อธิบายเพิ่มเติมในการให้สัมภาษณ์ทางโทรทัศน์ว่า, สามารถหลับตาได้, แต่ไม่ควรหลับสนิททั้งหมด; ท่านได้อ้างอิงถึงคำกล่าวของนักวิชาการที่ว่าท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ไม่อนุญาตให้หลับตาอย่างสนิทในระหว่างละหมาด; เนื่องจากท่านนบีเคยละหมาดในบริเวณที่มีอูฐ และไม่หลับตาเพราะเกรงว่าจะมีงูหรือตะขาบเข้ามาใกล้, แต่ถ้าในสภาพที่ปลอดภัยและมีความตั้งใจที่จะเพิ่มความคุชูอฺในการละหมาด; ก็สามารถหลับตาได้บ้าง แต่ไม่ควรหลับตาสนิททั้งหมด.
ที่มา: https://www.cairo24.com/1933584
สรุป
การหลับตาระหว่างละหมาดสามารถทำได้หากช่วยเพิ่มสมาธิและความคุชูอฺ แต่ไม่ควรหลับตาอย่างสนิททั้งหมด เพราะท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ ได้แนะนำให้มองไปที่จุดสุญูดระหว่างละหมาด ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ดีกว่าเป็นการปฏิบัติตามซุนนะห์ อย่างไรก็ตาม ในสภาพที่ปลอดภัย หากการหลับตาช่วยเพิ่มความคุชูอฺ ก็อนุญาตให้ทำได้ โดยไม่ถือว่ามักรูฮฺ.
ขออัลลอฮฺ (ซ.บ.) ทรงประทานความเข้าใจที่ถูกต้องแก่พวกเราทุกคนในการปฏิบัติหลักธรรมอิสลามด้วยเถิด.
บทความนี้ได้รับการเรียบเรียงและนำเสนอโดย อ.สมาน เลาะ