หุก่มการเฉลิมฉลองเมาลิดนบีมุฮัมมัด ﷺ: ความเห็นต่างของนักวิชาการและมัซฮับ
การจัดงานเมาลิดของท่านนบี ﷺ ซึ่งเป็นการเฉลิมฉลองวันประสูติของท่านนบีมูฮัมหมัด ﷺ เป็นประเด็นที่มีความหลากหลายทางความเชื่อและการปฏิบัติในหมู่ชาวมุสลิมทั่วโลก บางกลุ่มเห็นว่าเป็นการแสดงออกถึงความเคารพและความรักต่อท่านนบีมูฮัมหมัด ﷺ ในขณะที่บางกลุ่มมองว่าอาจขัดต่อหลักการศาสนาอิสลาม.
การทำเมาลิดของท่านนบี ﷺ มีความเห็นที่แตกต่างกันอย่างมากในหมู่อุละมาอฺ และมัซฮับต่างๆอุละมาอฺ ได้แบ่งออกเป็นกลุ่มต่างๆ เกี่ยวกับความถูกต้องในการเฉลิมฉลองนี้ ซึ่งบางกลุ่มเห็นว่ามีคุณค่าและเป็นการแสดงความรักต่อท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ ขณะที่บางกลุ่มมองว่าการทำเช่นนี้อาจไม่ตรงตามหลักการของศาสนาอิสลาม.
บทความนี้จะสำรวจทัศนะของอุละมาอฺ และมัซฮับทั้งสี่เกี่ยวกับการทำเมาลิดของท่านนบี ﷺ เพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจมุมมองที่หลากหลายและการตีความที่แตกต่างกันในประเด็นนี้ครับ.
ทัศนะของนักวิชาการเกี่ยวกับการทำเมาลิดของท่านนบี ﷺ:
1.ทัศนะที่ห้าม (บิดอะฮฺที่น่ารังเกียจ): อุละมาอฺบางคนยืนยันว่าสิ่งนี้เป็น “บิดอะห์” ซึ่งเป็นการสร้างสรรค์ใหม่ที่ไม่เคยมีในสมัยของท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ และบรรดาเศาะหาบะห์ การปฏิบัติศาสนกิจในอิสลามจะต้องมีหลักฐานที่ชัดเจนจากบทบัญญัติ นักวิชาการเหล่านี้ถือว่าการเพิ่มการปฏิบัติทางศาสนาใด ๆ ที่ไม่เคยมีในยุคของท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ หรือเศาะหาบะห์ ถือว่าเป็นบิดอะห์ พวกเขาอ้างอิงถึงหะดีษของท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ ได้กล่าวว่า
عن أم المؤمنين عائشة رضي الله عنها قالت: قال رسول الله صلى الله عليه وسلم: ((من أحدث في أمرنا هذا ما ليس منه، فهو ردٌّ))؛ رواه البخاري ومسلمٌ
รายงานจากท่านหญิงอาอิชะฮฺ (ร.ฎ.) ว่า : ท่านเราะซู้ลุ้ลลอฮฺ ﷺ ได้กล่าวว่า :
“ผู้ใดก็ตามที่สร้างสิ่งใหม่ในเรื่องศาสนาของเรา ซึ่งไม่ใช่เรื่องของศาสนาเรา สิ่งนั้นจะถูกปฏิเสธไม่เป็นที่ยอมรับ” (บันทึกโดยอัลบุคอรีและมุสลิม)
อุละมาอฺเหล่านี้เตือนว่าการเฉลิมฉลองวันเกิดอาจเปิดประตูให้บิดอะห์อื่น ๆ แทรกซึมเข้ามาในศาสนา. ชัยคฺ ดร.ศอลิหฺ บิน เฟาซาน อัล-เฟาซาน – หะฟิซอฮุลลอฮฺ – สมาชิกสภาอุลามาอฺอาวุโสแห่งซาอุดิอารเบีย กล่าวว่า: เเละสำหรับสิ่งนี้(เฉลิมฉลองเมาลิด) ด้วยกับประเภทต่างๆทั้งหมดของมัน เเละรูปแบบที่เเตกต่างกันออกไป หรือจุดประสงค์ที่เเตกต่างกันของผู้กระทำนั้น ไม่เป็นที่สงสัยใดๆเลยว่ามันเป็นบิดอะฮฺที่ต้องห้าม มันถูกอุตริขึ้นมาภายหลังจากยุคสมัยอันประเสริฐยิ่ง(สามร้อยปีเเรก)เป็นระยะเวลาอันยาวนาน [1]
2.ทัศนะที่อนุญาต (ความถูกต้องในการเฉลิมฉลอง): ในทางตรงกันข้าม มีอุละมาอฺคนอื่นมองว่าการทำเมาลิดของท่านนบี ﷺ หากเป็นการแสดงความยินดีในการเกิดของท่านและการระลึกถึงชีวประวัติของท่าน ไม่ถือว่าเป็นบิดอะห์ที่หลงทาง พวกเขาอ้างถึงหะดีษที่ท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ ถือศีลอดในวันจันทร์เพราะเป็นวันที่ท่านเกิด ท่านได้สั่งให้มีการถือศีลอดในวันจันทร์ ดังที่ในหะดีษกล่าวว่า
عَنْ أَبِي قَتَادَةَ الْأَنْصَارِيِّ رَضِيَ اللَّهُ عَنْهُ أَنَّ رَسُولَ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ سُئِلَ عَنْ صَوْمِ الِاثْنَيْنِ فَقَالَ : ( فِيهِ وُلِدْتُ وَفِيهِ أُنْزِلَ عَلَيَّ )
ความว่า : ท่านอบูเกาะตาดะฮฺ ร.ฎ เล่าว่า : “แท้จริงท่านรสูลุลลอฮฺถูกถามเกี่ยวกับการถือศีลอดในวันจันทร์ ท่านรอซูลุลลอฮฺ ﷺ ได้กล่าวตอบว่า เพราะวันดังกล่าวนั้น คือวันที่ฉันถือกำเนิด และเป็นวันที่วะฮีย์ (อัลกุรอ่าน) ถูกประทานลงมายังฉัน“ (บันทึกโดยมุสลิม [1162])
อุละมาอฺเหล่านี้เห็นว่าการรื้อฟื้นโอกาสนี้ผ่านการซิกรุลลอฮฺ การสรรเสริญท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ และการสอนชีวประวัติของท่าน ถือว่าเป็นสิ่งที่อนุญาต ในกลุ่มนี้มีอุละมาอฺ เช่น อิมามอัสสุยูฏีย์ และอิมามอิบนุฮะญัรอัลอัสกอลานีย์ ซึ่งยืนยันว่าพื้นฐานของการปฏิบัติทางสังคมนั้นคืออนุญาต หากไม่มีสิ่งใดขัดกับหลักศาสนา.
มัซฮับทั้งสี่:
การทำเมาลิดของท่านนบี ﷺในมัซฮับทั้งสี่:
ดารุลอิฟตาอีย์แห่งประเทศอียิปต์ دار الإفتاء المصرية ได้ชี้แจงคำตัดสินเกี่ยวกับของการเฉลิมฉลองวันประสูติของท่านนบีมูฮัมหมัด ﷺ ในทัศนะของสำนักคิดจากมัซฮับทั้งสี่ โดยยืนยันว่านักวิชาการส่วนใหญ่ทั้งในอดีต سلف และปัจจุบัน خلف ได้ระบุถึงความถูกต้องของการเฉลิมฉลองวันประสูติของท่านนบีมูฮัมหมัด ﷺ ซึ่งนักวิชาการและนักฟูกอฮาอฺบางกลุ่มยังได้มองว่าเป็นสิ่งที่ได้รับการแนะนำส่งเสริมให้กระทำเฉลิมฉลองนี้อีกด้วย.
ในเรื่องของการเฉลิมฉลองวันประสูติของท่านนบีมูฮัมหมัด ﷺ ในมัซฮับทั้งสี่ คือ ฮานาฟี, มาลิกี, ชาฟิอี, และฮันบาลี ไม่มีการตัดสินในเรื่องนี้อย่างชัดเจน ไม่ได้กล่าวถึงการห้ามหรืออนุญาต ดังนั้น ดร. ฟัตฮี อัลฟิกกีย์ الدكتور فتحي الفقي สมาชิกของคณะนักวิชาการใหญ่ ได้กล่าวไว้ว่า ตามเหตุผลนี้ การเฉลิมฉลองวันเกิดของท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ ในมัซฮับทั้งสี่ (ฮานาฟี, มาลิกี, ชาฟิอี, ฮัมบาลี) ถือว่าเป็นสิ่งที่สามารถทำได้.[4]
“อิมามชาฟีอีว่าอย่างไรในเรื่องการเฉลิมฉลองวันเกิดของท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ “
สำหรับคำพูดของอิม่ามชาฟิอีย์เกี่ยวกับการการทำเมาลิดของท่านนบี ﷺ อิม่ามชาฟิอีย์ไม่ได้กล่าวถึงการฉลองวันเกิดของท่านนบีโดยตรง แต่ผู้ติดตามแนวทางของชาฟิอียะห์มีความเห็น 2 ทัศนะ:
1.อนุญาต جائز : โดยถือว่าเป็นบิดะฮ์ที่ดี ซึ่งผู้ที่เห็นด้วยกับทัศนะนี้ได้แก่ อัล-ซุ๊บกี السبكي, อิบน ฮะญัร وابن حجر, อัล-ซิยูตี السيوطي, อิบน์ อัล-ญะซะรี ابن الجزري, อัล-ซัคอวี السخاوي, อัล-บูร์ฮาน อัล-ฮาลาบี البرهان الحلبي และ อิบน์ ฮาจร์ อัล-ฮัยตามี ابن حجر الهيتمي
ในตำราอิอานะตุฏฏอลิบีน เล่มที่ 3 หน้า 364 ได้เขียนว่า
قال حسن البصري قدس الله سره وددت لو كان لي مثل جبل أُحد ذهبا لأنفقته على قراءة مولد الرسول
ความว่า: คำกล่าวของฮาซัน อัล-บัศรี (ขออัลลอฮ์ทรงคุ้มครองความลับของท่าน): “ฉันปรารถนาว่าถ้าฉันมีทองคำเท่ากับภูเขาอุฮุด ฉันจะใช้มันบริจาคในการอ่านเมาลิดของท่านท่านเราะซู้ล (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม))” [2]
2.บิดอะฮฺสัยยิอะฮฺ بدعة سيئة (บิดอะฮฺที่เลว ) : โดยห้ามการเฉลิมฉลองเนื่องจากถือว่าบิดะฮฺทั้งหมดเป็นสิ่งที่ต้องห้ามตามหลักการ ไม่มีการแบ่งแยกระหว่างบิดะฮฺที่ดีและบิดะฮ์ที่เลว
เชค อัล-อิสลาม อิบนุ ตัยมิยะห์ (ขออัลลอฮ์ทรงเมตตาท่าน) กล่าวไว้ว่า: “การให้ความสำคัญกับเมาลิดนั้นและการถือว่าเป็นเทศกาล บางคนอาจจะกระทำ, และพวกเขาอาจได้รับผลบุญมากมาย, จากความตั้งใจดีของพวกเขาและการให้ความเคารพต่อท่านรอซูลุลลอฮฺ ﷺ , เช่นที่ฉันได้อธิบายแก่ท่านแล้วว่า มันอาจจะดีสำหรับบางคน, แต่ไม่ใช่สิ่งที่ดีสำหรับผู้ศรัทธาที่ปฏิบัติตนอย่างถูกต้องเสมอมา, และด้วยเหตุนี้จึงมีผู้ถามอิม่ามอะห์หมัดเกี่ยวกับเจ้าผู้ปกครองบางคน: ที่ใช้จ่ายเงินเป็นพันดีนาร์ในการตกแต่งคัมภีร์อัลกุรอาน, หรือสิ่งที่คล้ายกัน ท่านกล่าวว่า ‘ปล่อยเขาเถิด, นี่คือสิ่งที่ดีที่สุดที่ทองคำจะถูกใช้จ่าย, หรือสิ่งที่ท่านกล่าวไว้เช่นนั้น, แม้ว่ามัซฮับของท่าน (อิมามอะห์หมัด): จะเห็นว่าการตกแต่งอัลกุรอานเป็นสิ่งที่มักรูฮฺ (น่ารังเกียจ), แต่ (บรรดานักวิชาการหรือผู้ที่เป็นศิษย์และสืบทอดแนวทางของอิมามอะห์หมัด) บางคนได้ตีความว่าการใช้จ่ายนี้เกิดขึ้นเพื่อการปรับปรุงกระดาษและการเขียนใหม่” (อ้างจากหนังสือ อิกติฎออุสสิรอต หน้า 297) [3]
เชค อัล-อิสลาม อิบนุ ตัยมิยะห์ (ขออัลลอฮ์ทรงเมตตาท่าน) ยังกล่าวอีกว่า: “เช่นเดียวกับบางสิ่งที่ผู้คนบางคนทำขึ้น, ไม่ว่าจะเป็นการเลียนแบบคริสเตียนในการเฉลิมฉลองการเกิดของนบีอีซา (อ.ล.), หรือทำไปด้วยความรักและความเคารพต่อท่านนบีﷺ, ซึ่งอัลลอฮฺอาจตอบแทนพวกเขาในความรักและความพยายามของพวกเขา, ไม่ใช่ในเรื่องของบิดอะห์ (อุตริกรรมในศาสนาขึ้นใหม่): เช่นการถือเอาเมาลิดของท่านนบี ﷺ เป็นวันฉลอง ทั้งๆ ที่ยังมีความเห็นที่ขัดแย้งกันเกี่ยวกับวันที่ท่านประสูติ, เพราะบรรพชน (สะลัฟ) ไม่ได้กระทำสิ่งนี้ ทั้งๆ ที่มีเหตุอันสมควร, และไม่มีข้อห้ามใดๆ, หากสิ่งนี้เป็นความดีแท้จริงหรือมีน้ำหนักยิ่ง, ย่อมบรรพชน (สะลัฟ) มีสิทธิ์มากกว่าพวกเรา, เพราะพวกเขามีความรักและความเคารพต่อท่านรอซูลุลลอฮฺ ﷺ มากกว่าพวกเรา” (อ้างจากหนังสือ อิกติฎออุสสิรอต หน้า 295) [3]
สรุป: การเฉลิมฉลองวันประสูติของท่านนบีมูฮัมหมัด ﷺ เป็นเรื่องของการใช้วิจารณญาณ การตัดสินใจขึ้นอยู่กับเจตนาของผู้ที่เฉลิมฉลองและลักษณะของการเฉลิมฉลอง หากการเฉลิมฉลองประกอบด้วยการระลึกถึงชีวประวัติของท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ การสรรเสริญท่าน และการปฏิบัติตามหลักศาสนา ถือว่าเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ แต่หากมีการเกินเลยหรือการปฏิบัติที่ไม่สอดคล้องกับหลักศาสนา ก็ควรหลีกเลี่ยง.
สิ่งสำคัญคือมุสลิมควรปฏิบัติตามซุนนะห์ของท่านศาสดาอย่างเคร่งครัด และหลีกเลี่ยงการกระทำใด ๆ ที่อาจนำไปสู่บิดอะห์ (อุตริกรรมในศาสนาขึ้นใหม่) โดยยึดมั่นในความพอประมาณในการปฏิบัติศาสนกิจครับ.
บทความนี้ได้รับการเรียบเรียงและนำเสนอโดย อ.สมาน เลาะ
ที่มา:
[1] ที่มา : “البيان لأخطاء بعض الكتاب” (268-270)แปล / อิสลามตามแบบฉบับ
[2] إعانة الطالبين เล่มที่ 3 หน้า 364
[3] اقتضاء الصراط หน้า 295, หน้า 297